Wednesday, April 13, 2011

สงกรานต์


สงกรานต์ เป็นประเพณีปีใหม่ของประเทศไทย ลาว กัมพูชา พม่า ชนกลุ่มน้อยชาวไตแถบเวียดนามและมณฑลยูนนานของจีน ศรีลังกาและทางตะวันออกของประเทศอินเดีย สงกรานต์เป็นคำสันสกฤต หมายถึงการเคลื่อนย้าย ซึ่งเป็นการอุปมาถึงการเคลื่อนย้ายของการประทับในจักรราศี หรือคือการเคลื่อนขึ้นปีใหม่ในความเชื่อของไทยและบางประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ชาวต่างประเทศเรียกว่า "สงครามน้ำ"

สงกรานต์ เป็นประเพณีเก่าแก่ของไทยซึ่งสืบทอดมาแต่โบราณคู่มากับประเพณีตรุษ จึงมีการเรียกรวมกันว่า ประเพณีตรุษสงกรานต์ หมายถึงประเพณีส่งท้ายปีเก่า และต้อนรับปีใหม่ คำว่าตรุษเป็นภาษาทมิฬ แปลว่าการสิ้นปี

พิธีสงกรานต์ เป็นพิธีกรรมที่เกิดขึ้นในสมาชิกในครอบครัว หรือชุมชนบ้านใกล้เรือนเคียง แต่ปัจจุบันได้เปลี่ยนไปสู่สังคมในวงกว้าง และมีแนวโน้มที่จะเปลี่ยนทัศนคติ และความเชื่อไป ในความเชื่อดั้งเดิมใช้สัญลักษณ์เป็นองค์ประกอบหลักในพิธี ได้แก่ การใช้น้ำเป็นตัวแทน แก้กันกับความหมายของฤดูร้อน ช่วงเวลาที่พระอาทิตย์เคลื่อนเข้าสู่ราศีเมษ ใช้น้ำรดให้แก่กันเพื่อความชุ่มชื่น มีการขอพรจากผู้ใหญ่ การรำลึกและกตัญญูต่อบรรพบุรุษที่ล่วงลับ ในชีวิตสมัยใหม่ของสังคมไทยเกิดประเพณีกลับบ้านในเทศกาลสงกรานต์ นับวันสงกรานต์เป็นวันครอบครัว ในพิธีเดิมมีการสรงน้ำพระที่นำสิริมงคล เพื่อให้เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ที่มีความสุข ปัจจุบันมีพัฒนาการและมีแนวโน้มว่าได้มีการเสริมจนคลาดเคลื่อนบิดเบือนไป เกิดการประชาสัมพันธ์ในเชิงการท่องเที่ยวว่าเป็น ‘Water Festival’ เป็นภาพของการใช้น้ำเพื่อแสดงความหมายเพียงประเพณีการเล่นน้ำ

การที่สังคมเปลี่ยนไป มีการเคลื่อนย้ายที่อยู่เข้าสู่เมืองใหญ่ และถือวันสงกรานต์เป็นวัน "กลับบ้าน" ทำให้การจราจรคับคั่งในช่วงวันก่อนสงกรานต์ วันแรกของเทศกาล และวันสุดท้ายของเทศกาล เกิดอุบัติเหตุทางถนนสูง นับเป็นปรากฏการณ์ทางสังคมที่เกิดขึ้นตามการเปลี่ยนแปลงหลายด้านของสังคม นอกจากนี้ เทศกาลสงกรานต์ยังถูกใช้ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ทั้งต่อคนไทย และต่อนักท่องเที่ยวต่างประเทศ

วันในเทศกาลสงกรานต์

ปฏิทินไทยในขณะนี้กำหนดให้เทศกาลสงกรานต์ตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน ของทุกปี และเป็นวันหยุดราชการ อย่างไรก็ตาม ประกาศสงกรานต์อย่างเป็นทางการจะคำนวณตามหลักเกณฑ์ในคัมภีร์สุริยยาตร์ ซึ่งแต่โบราณมา กำหนดให้วันแรกของเทศกาล เป็นวันที่พระอาทิตย์ย้ายออกจากราศีมีนเข้าสู่ราศีเมษ เรียกว่า "วันมหาสงกรานต์"[ต้องการอ้างอิง] วันถัดมาเรียกว่า "วันเนา" และวันสุดท้าย เป็นวันเปลี่ยนจุลศักราชและเริ่มใช้กาลโยคประจำปีใหม่ เรียกว่า "วันเถลิงศก" โดยมึสูตร หา หรคุณจูเลียน (JD) [ต้องการอ้างอิง] วันมหาสงกรานต์ และ วันเถลิงศกดังนี้

JD วันมหาสงกรานต์ = ปัดลง[(292207* (พ.ศ.-1181) -559)/800] + 1954167
JD วันเถลิงศก= ปัดลง[(292207* (พ.ศ.-1181) +1173)/800] + 1954167

จากหลักการข้างต้นนี้ ทำให้ปัจจุบันเทศกาลสงกรานต์มักตรงกับวันที่ 14-16 เมษายน[ต้องการอ้างอิง] (ยกเว้นบางปี เช่น พ.ศ. 2551 และ พ.ศ. 2555 ที่สงกรานต์กลับมาตรงกับวันที่ 13-15 เมษายน) ซึ่งบางปีก็อาจจะตรงกับวันใดวันหนึ่ง

กิจกรรมในวันสงกรานต์

-การทำบุญตักบาตร ถือว่าเป็นการสร้างบุญสร้างกุศลให้ตัวเอง และ อุทิศส่วนกุศลนั้นแก่ผู้ล่วงลับไปแล้ว การทำบุญแบบนี้มักจะเตรียมไว้ล่วงหน้า นำอาหารไปตักบาตรถวายพระภิกษุที่ศาลาวัด ซึ่งจัดเป็นที่รวมสำหรับทำบุญ ในวันนี้หลังจากที่ได้ทำบุญเสร็จแล้ว ก็จะมีการก่อพระทรายอันเป็นประเพณีด้วย
-การรดน้ำ เป็นการอวยพรปีใหม่ให้กันและกัน น้ำที่รดมักใช้น้ำหอมเจือด้วยน้ำธรรมดา
-การสรงน้ำพระจะรดน้ำพระพุทธรูปที่บ้านและที่วัด และบางที่จัด สรงน้ำพระสงฆ์ ด้วยบังสุกุลอัฐิ กระดูกญาติผู้ใหญ่ที่ตายแล้ว มักก่อเป็นเจดีย์ แล้วนิมนต์พระไปบังสุกุล
-การรดน้ำผู้ใหญ่ คือการไปอวยพรให้ผู้ใหญ่ที่เคารพนับถือ ครูบาอาจารย์ ท่านผู้ใหญ่มักจะนั่งลงแล้วผู้ที่รดก็จะเอาน้ำหอมเจือกับน้ำรดที่มือท่าน ท่านจะให้ศีลให้พรผู้ที่ไปรด ถ้าเป็นพระก็จะนำผ้าสบงไปถวายให้ท่านผลัดเปลี่ยนด้วย หากเป็นฆราวาสก็จะหาผ้าถุง ผ้าขาวม้าไปให้
-การดำหัว ก็คือการรดน้ำนั่นเอง แต่เป็นคำเมืองทางภาคเหนือ การดำหัวเรียกกันเฉพาะการรดน้ำผู้ใหญ่ที่เราเคารพนับถือ ผู้สูงอายุ คือการขอขมาในสิ่งที่ได้ล่วงเกินไปแล้ว หรือ การขอพรปีใหม่จากผู้ใหญ่ ของที่ใช้ในการดำหัวส่วนมากมีผ้าขนหนู มะพร้าว กล้วย และ ส้มป่อย
-การปล่อยนกปล่อยปลา ถือเป็นการล้างบาปที่ทำไว้ เป็นการสะเดาะเคราะห์ร้ายให้มีแต่ความสุขความสบายในวันขึ้นปีใหม่
-การนำทรายเข้าวัด ทางภาคเหนือนิยมขนทรายเข้าวัดเพื่อเป็นนิมิตโชคลาภ ให้มีความสุขความเจริญ เงินทองไหลมาเทมาดุจทรายที่ขนเข้าวัด

ที่มา: สงกรานต์ จากวิกิพีเดีย สารานุกรมเสรี