Sunday, September 22, 2013

ตลาดหุ้น …. สถานที่แห่งการฝึกตน

เป็นเหมือนผมไหมครับ ก่อนเข้าตลาดหุ้น รู้สึกไม่แน่ใจ ไม่รู้อะไรซักอย่าง เราก็ศึกษาจนคิดว่าเข้าใจ จนคิดว่ามั่นใจจะทำเงินในตลาดได้บ้าง

แต่พอเข้ามาในตลาดจริง กลับพบว่า สิ่งที่ตัวเองรู้มา แทบจะต้องโยนตำราทิ้งทั้งหมดที่เคยเรียนแล้วเริ่มนับหนึ่งใหม่ ซึ่งพอเริ่มนับหนึ่งใหม่ เรียนรู้กันใหม่ ก็ทำให้มีกำลังใจ มีความมั่นใจกลับคืนมาอีกครั้ง
แต่ผ่านไปอีกซักพัก Mr.Market ก็เล่นงานเราอีกครั้งด้วยการทำให้เห็นว่า สิ่งที่เรารู้มามันผิดอีกแล้ว และตลาดก็ทำแบบนี้ซ้ำๆกับนักลงทุนหน้าใหม่และหน้าเก่าทุกคนที่เข้ามา จนหลายคนหันหลังให้กับตลาดหุ้นไปไหนที่สุด

แท้จริงแล้ว ตลาดหุ้น เป็นสถานที่ที่แสดงให้เห็นสัจธรรมของโลกให้เราได้เห็นชัดเจนมากที่สุด นั้นก็คือ เปลี่ยนแปลงตลอด ควบคุมไม่ได้ ไม่มีความแน่นอน

ซึ่งคุณสมบัติของตลาดหุ้นที่ผมบอกไปนั้น มันออกจะขัดใจ และขัดกับหลักสามัญสำนึกของผู้ประกอบการ ผู้บริหารบริษัท และมนุษย์เงินเดือนตาดำๆหาเช้ากินค่ำ เพราะสิ่งที่เขาเหล่านั้นต้องการก็คือ “ความแน่นอน” ของรายได้และผลตอบแทน แต่เขากลับเข้ามาอยู่ในสถานที่ที่แสดงให้เห็นความไม่แน่นอนที่ชัดเจนที่สุดบนโลกใบนี้ที่เรียกว่า “ตลาดหุ้น”

แล้วในตลาดหุ้น มันมีความแน่นอนอยู่ไหม?

มีครับ ความแน่นอน 3 ประการของตลาดหุ้นก็คือ
1. ตลาดหุ้น มีวัฏจักรตามเศรษฐกิจ มีขึ้นย่อมมีลง มีลงย่อมมีขึ้น
2. ตลาดหุ้น มีทั้งหุ้นคุณภาพดี และหุ้นที่ไม่มีคุณภาพ
3. ตลาดหุ้น มีนักลงทุนที่เตรียมความพร้อมมาอย่างดี และมีที่หวังจะเข้ามาแสวงหากำไรระยะสั้น

มีเซียนหุ้นในตลาดคนหนึ่งเคยบอกกับผมตอนผมเข้าวงการใหม่ๆว่า เมื่อคุณอยู่ในตลาดหุ้นมานานพอ คุณจะรู้จักตัวตนของคุณดีขึ้น และเมื่อจักตัวตนดีขึ้น เมื่อนั้นการทำกำไรในตลาดหุ้นก็เป็นเรื่องที่ไม่ยากจนเกินไป

ตอนแรกผมก็สงสัยว่า รู้จักตัวเอง แล้วมันเกี่ยวอะไรกับกำไร? แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็ได้เข้าใจว่า เมื่อเราตั้งความคาดหวังจากการลงทุนอย่างเหมาะสม เข้าใจทั้งสัจธรรมของตลาด และเข้าใจทั้งตัวตนของตัวเองแล้ว เราจะเริ่มหาแนวทางที่เป็นธรรมชาติของตัวเอง ไม่ฝืนเกินไป ไม่หย่อนเกินไป ซึ่งสร้างภาวะแห่งสติ และหยั่งรู้ความเป้นไปของตลาดมากขึ้น สิ่งนี้มาจากการ Trail & Error คือการลองผิดลองถูกมาแบบนั้นครั้งไม่ถ้วน และนักลงทุนแต่ละปัจเจกบุคคลก็มีจุดที่เหมาะสมของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน นั้นจึงเป็นสาเหตุที่ว่า ถึงแม้เราจะลอกวิธีของเซียนคนไหนมาแบบ 100% มันก็ยังไม่ใช่เครื่องการันตีผลตอบแทนว่าจะได้เหมือนเซียนคนนั้นไปตลอด เพราะยังไงเสีย ก็ยังมีสิ่งหนึ่งที่เราต่างจากเซียนคนนั้นอยู่ดี นั้นก็คือ “นิสัย”

หน้าที่ของนักลงทุนที่สำคัญและไม่ควรละเลยอีกอย่างหนึ่งเลยก็คือ การฝึก “นิสัย” ให้เหมาะและเอิ้อกับการลงทุน และมันจะมีที่ไหนที่ดีไปกว่าตลาดหุ้นอีกล่ะครับ ในเมื่อความเปลี่ยนแปลงที่เราเห็นอยู่ทุกวัน มันยิ่งช่วยให้เราเห็นนิสัยแย่ๆของตัวเองได้เร็วกว่าคนที่อยู่นอกตลาด เห็นหมดนิสัยแย่ๆ เห็นความโลภ (เห็นเพื่อนรวยหุ้น ก็อยากรวยบ้าง) เห็นความใจร้อน (ชอบหุ้นปั่น มันส์สะใจ) เห็นความประมาท (ใช้หูเล่น แทนที่จะใช้สมองวิเคราะห์) รู้ก็รู้ว่าเป็นแนวทางที่ไม่ดี แต่ก็เลิกไม่ได้ชิมิ

เปลี่ยนมุมมองนะครับ กำไรจากตลาดหุ้น มันไม่มีเส้นชัยที่แน่นอนมาเป็นตัววัด เกมส์การลงทุน เป็นเกมส์ที่ต้องเล่นกันทั้งชีวิต และเมื่อต้องอยู่กับมันไปตลอด และสู้รบตบมือกับฝรั่งอันชาญฉลาด กองทุนอันร้ายกาจ และป๊อบเทรดสุดโหด จะสู้แบบนี้ไปเรื่อยๆจริงๆหรือ? เรามาใช้ตลาดหุ้นเป็นสถานที่แห่งการฝึกตนกันดีกว่า เพื่อเวลาเจอวิกฤตในคราวหน้า เราจะได้หาโอกาสเจอ และได้ประโยชน์จากมันทุกครั้งไป

ที่มา: MR.MESSENGER

Monday, September 16, 2013

หลักการพื้นฐานการลงทุนในหุ้น

5 คำแนะนำสำหรับการลงทุนในหุ้น และ Economic Moat กับความได้เปรียบทางการแข่งขันของบริษัท

การลงทุนในหุ้น คือการซื้อหุ้นของบริษัทจดทะเบียนซึ่งให้สิทธิการเป็นเจ้าของในบริษัทนั้นๆ ตามจำนวนหุ้นที่ถือครอง แม้คำว่า “งบการเงิน” และ “การบัญชี” อาจจะทำให้หลายคนรู้สึกกลัวและไม่อยากทำความเข้าใจกับมัน แต่นี่คือภาษาทางธุรกิจซึ่งนักลงทุนจำเป็นต้องรู้ก่อนจะลงทุนในหุ้นของบริษัทใดบริษัทหนึ่ง อย่างไรก็ตาม นักลงทุนไม่จำเป็นต้องมีความรู้อย่างนักบัญชี หรือผู้เชี่ยวชาญด้านการลงทุนก็สามารถที่จะเข้าใจพื้นฐานของงบการเงินที่สำคัญสามอย่าง คือ งบกำไรขาดทุน งบดุล และงบกระแสเงินสด ที่ช่วยแสดงถึงผลการดำเนินงานและความมั่งคั่งของบริษัทได้

เมื่อนักลงทุนคิดว่าตัวเองได้พบบริษัทที่มีประสิทธิภาพ (เหนือกว่าบริษัททั่วไป) แล้ว สิ่งต่อมาที่นักลงทุนควรค้นหาก็คือ ราคาตลาดตอนนี้เป็นราคาที่นักลงทุนควรจะเข้าไปซื้อหรือไม่ เช่นเดียวกับการซื้อสินค้าเราคงไม่อยากซื้อสินค้าที่ดี แต่ราคาแพงเกินกว่าที่ควรจะเป็น หุ้นก็เช่นเดียวกัน นักลงทุนคงไม่ต้องการซื้อบริษัทในราคาที่แพงเกินความเป็นจริง

การจะค้นพบบริษัทที่มีประสิทธิภาพที่เหนือกว่าบริษัททั่วไปนั้น นักลงทุนจะต้องทำการบ้านหนักพอสมควรในการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัท ประกอบกับนักลงทุนบางคนอาจมองว่าการลงทุนด้วยตัวเองจะทำให้ไม่สามารถกระจายความเสี่ยงของพอร์ตโฟลิโอได้เท่าที่ควร ทางออกที่นักลงทุนเหล่านี้เลือกจึงเป็นการลงทุนในกองทุนรวมที่ลงทุนในหุ้นแทนการลงทุนในหุ้นรายตัว  อย่างไรก็ตาม หากนักลงทุนต้องการจะเพิ่มหุ้นเฉพาะตัวลงไปในพอร์ตการลงทุน มอร์นิงสตาร์ได้แนะนำแนวทางการลงทุนไว้ 5 ข้อด้วยกัน คือ

1. มองหาบริษัทที่มี Wide Moat (Moat ในที่นี้หมายถึงความได้เปรียบทางการแข่งขันของบริษัท)

ก่อนอื่น เรามาทำความรู้จะกับคำว่า Economic Moat กันก่อน คำนี้เป็นคำที่ตั้งขึ้นโดย วอเรน บัฟเฟต ซึ่งเป็นตัวบ่งบอกว่าบริษัทมีความสามารถในการแข่งขัน (competitive advantage) มากน้อยและยั่งยืนเท่าใด บริษัทที่มี Wide moat มักอยู่ในอุตสาหกรรมที่มีความได้เปรียบในการทำกำไร และเป็นบริษัทที่มีปัจจัยทางโครงสร้างที่ทำให้ได้เปรียบคู่แข่งในระยะยาว บริษัทเหล่านีจึงเป็นบริษัทที่นักลงทุนสามารถที่จะคาดการณ์ผลกำไรในอนาคตได้ อีกทั้งบริษัทจะมีผลตอบแทนของเงินทุน (Return on Capital) ที่สูงกว่าต้นทุนของเงินทุน (Cost of Capital) และสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืนในระยะยาว

ข้อได้เปรียบของบริษัทที่มี Wide moat นั้นคือ มีความเป็นไปได้สูงที่เมื่อเวลาผ่านไปมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทจะเพิ่มขึ้นและทำให้มูลค่าในส่วนของผู้ถือหุ้นเพิ่มตามไปด้วย พูดได้ว่าเวลาเป็นตัวช่วยส่งเสริมบริษัทเหล่านี้   แต่ในทางกลับกัน หากนักลงทุนซื้อหุ้นในบริษัทที่ไม่มี Wide moat เมื่อเวลาผ่านมูลค่าหุ้นของบริษัทอาจลดลง การซื้อหุ้นพวกนี้ก็เหมือนกับว่านักลงทุนกำลังคาดหวังให้ราคาหุ้นเพิ่มขึ้นมากพอจนนักลงทุนสามารถขายเพื่อทำกำไร หรือที่เรียกว่าการเก็งกำไรนั่นเอง แม้ว่ามอร์นิ่งสตาร์เองยังไม่ไม่มีการให้อันดับ Economic Moat สำหรับหุ้นไทยเหมือนในต่างประเทศ แต่ว่านักลงทุนก็สามารถวิเคราะห์จากบริษัทที่คุณสนใจอยู่ได้เองว่ามี Moat หรือไม่ โดยดูจากงบการเงิน และหลายๆปัจจัย เช่น มูลค่าและความยั่งยืนของสินทรัพย์ไม่มีตัวตน (ยี่ห้อ สิทธิบัตร ฯลฯ) ความได้เปรียบด้านต้นทุน (cost advantage) เครือข่ายของผู้บริโภค (network effect) ต้นทุนในการเปลี่ยนการใช้สินค้าหรือบริการของผู้บริโภค (switching cost) และธุรกิจที่เป็นผู้นำในตลาดที่มีขนาดจำกัด (efficient scale)

2. ลงทุนเฉพาะในหุ้นที่เห็นว่ามี Margin of Safety

ในการซื้อหุ้น แทนที่เราจะซื้อหุ้นตามคนส่วนใหญ่ เราควรจะซื้อหุ้นที่เราเห็นว่าราคาตลาดขณะนั้นตำกว่ามูลค่ายุติธรรม (Fair value) หรือมูลค่าที่แท้จริงที่เราประเมินไว้  การซื้อหุ้นแบบนี้ ส่วนต่างของราคาที่จ่ายกับมูลค่าที่แท้จริงของหุ้นที่ได้รับจะถือเป็นกำไรของนักลงทุน ที่เราเรียกว่า Margin of Safety โดยนักลงทุนไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงเรื่องทิศทางโดยรวมของตลาดหุ้นเพราะไม่มีใครสามารถคาดการณ์ตลาดได้ถูกต้องตลอดเวลา ดังนั้นในการซื้อหุ้นนักลงทุนควรต้องฝึกฝนอย่างมีวินัยและต้องไม่กลัวว่าจะพลาดโอกาสหากไม่ซื้อหุ้นในช่วงที่ตลาดขึ้น ความอดทนจึงถือเป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับนักลงทุน เนื่องจากหุ้นดีๆอาจต้องใช้เวลาหลายเดือนหรือนานกว่านั้นกว่าที่จะแสดงให้เห็นถึงมูลค่าที่แท้จริงของมัน

แน่นอนว่า ในการจะตรวจสอบหุ้นที่ซื้อขายกันในตลาดว่ามี Margin of Safety เพียงพอหรือไม่นั้น นักลงทนต้องประมาณการณ์มูลค่าที่แท้จริงของหุ้นตัวนั้นเสียก่อน และกำหนด Margin of Safety ที่นักลงทุนต้องการก่อนซื้อหุ้น ถ้าหากบริษัทมีความเสียงไม่มากนัก นักลงทุนอาจต้องการซื้อในราคาที่ถูกกว่ามลค่าที่แท้จริงประมาณ 15-20% แต่ถ้าบริษัทมีความเสี่ยงมาก คุณอาจต้องการซื้อในราคาที่ถูกกว่ามูลค่าที่แท้จริงประมาณ 30-40% ซึ่งค่าของ Margin of Safety นี้จะเปลี่ยนไปตามความต้องการของนักลงทุนแต่ละคน

การซื้อหุ้นโดยใช้หลัก Margin of Safety นั้นก็เหมือนกับว่านักลงทุนได้สร้างหลักประกันไว้ส่วนหนึ่งแล้ว หากเกิดกรณีที่การประเมินมูลค่าหุ้นของนักลงทุนผิดพลาดไปนักลงทุนก็อาจจะไม่เสียหายมากนัก นอกจากนี้ หากนักลงทุนซื้อหุ้นในบริษัทที่มี Widemoat มูลค่าหุ้นของนักลงทุนก็มีโอกาสที่จะเพิ่มขึ้นเมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้น แม้ว่านักลงทุนจะทำการประเมินมูลค่าหุ้นพลาดไปบ้าง แต่ท้ายที่สุด มูลค่าของหุ้นก็จะยังเพิ่มขึ้นไปจนถึงมูลค่าที่แท้จริง การซื้อหุ้นบริษัทที่มี Widemoat นั้นจึงเปรียบได้กับการเพิ่ม Margin of Safety เข้าไปในการลงทุนด้วยอีกทางหนึ่ง

3. อย่ากลัวที่จะถือเงินสด

การถือเงินสดนั้น เปรียบเหมือนการมีทางเลือกที่จะหาประโยชน์จากความผันผวนของตลาด มูลค่าของทางเลือกนี้จะเพิ่มขึ้นเมื่อความผันผวนของตลาดมากขึ้น นั่นก็คือ ภาวะที่ตลาดมีความผันผวนนั้นอาจเปิดโอกาสให้นักลงทุนเข้าซื้อหุ้นในบริษัทที่มี Wide moat ที่ราคาตลาดได้ปรับตัวลดลงได้ทันที เนื่องจากนักลงทุนมีเงินสดในมืออยู่แล้ว

นักลงทุนหลายคนมักจะละเลยข้อสำคัญในการลงทุนข้อนี้ไปและเลือกที่จะลงทุนให้เต็มวงเงินที่มีสำหรับพอร์ตโฟลิโอโดยไม่ถือเงินสดไว้ หรือแม้แต่นักการเงินที่รับบริหารเงินให้นักลงทุนก็ยังรู้สึกว่าพวกเขาควรจะลงทุนเต็มจำนวนอยู่ตลอดเวลาแม้ว่ายังไม่มีโอกาสซื้อที่เหมาะสมก็ตาม ดังนั้น เมื่อตลาดอยู่ในช่วงขาลง พวกเขาจึงได้แค่มองดูอยู่เฉย ๆ (หรือที่แย่ไปกว่านั้น อาจจะขายหุ้นทิ้งในราคาที่เกือบต่ำสุด)

4. อย่ากลัวที่จะถือหุ้นเพียงไม่กี่ตัว

วอเรน บัฟเฟต กล่าวว่า “เขามีความสุขแม้ว่าจะถือหุ้นเพียงแค่ตัวเดียว” แต่สำหรับนักลงทุนทั่วไปนั้น การมีหุ้นสัก 5-6 ตัวในพอร์ตโฟลิโออาจเป็นความคิดที่ดี ถ้าในกรณีที่นักลงทุนรู้สึกว่าเขาต้องการถือหุ้นมากกว่า 20 ตัวซึ่งอาจไม่ได้เป็นไปตามแบบ Value Investing (การลงทุนแบบเน้นคุณค่า) และวิธีของมอร์นิ่งสตาร์ อาจเป็นไปได้ว่านักลงทุนกำลังซื้อหุ้นเพื่อเก็งกำไรและพยายามกระจายความเสี่ยงของการเก็งกำไรโดยการถือหุ้นหลายตัว อย่างไรก็ตาม นักลงทุนควรจะเตือนตัวเองอยู่เสมอว่า ความเสียงจะเพิ่มขึ้นหากพอร์ตโฟลิโอมีการกระจุกตัวมากเกินไป เว้นไว้เสียแต่ว่านักลงทุนจะลงทุนตามวิธีต่อไปนี้

1. ซื้อหุ้นบริษัทที่มี Wide moat เท่านั้น ซึ่งมูลค่าที่แท้จริงจะเพิ่มขึ้นตามเวลา

2. ซื้อหุ้นเหล่านั้น เมื่อราคาต่ำกว่ามูลค่ายุติธรรม (Margin of Safety)

3. ระยะเวลาการลงทุนควรมีอย่างน้อย 3 ปีสำหรับการลงทุนในหุ้นแต่ละตัว และต้องไม่ลืมว่าหุ้นอาจใช้เวลาซักระยะกว่าที่ตลาดจะสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงของบริษัท

ถ้านักลงทุนไม่ต้องการทำตามวิธีสามข้อนี้ในหุ้นทุกตัวที่ซื้อ นักลงทุนอาจต้องกระจายความเสี่ยงของการลงทุนในพอร์ตโฟลิโอให้มากขึ้น

5. อย่าซื้อขายบ่อย

ถ้านักลงทุนใช้วิธีที่กล่าวมาข้างต้นนี้ นักลงทุนก็ไม่จำเป็นต้องซื้อขายบ่อยเพราะได้ลงทุนเฉพาะในบริษัทที่มีลักษณะ Wide moat ซึ่งมีความได้เปรียบทางการแข่งขันในระยะยาว และสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผู้ถือหุ้นไปเรื่อยๆ เนื่องจากมูลค่าที่แท้จริงของบริษัทมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หุ้นลักษณะนี้จึงเหมาะกับการลงทุนแบบซื้อแล้วถือไว้ (buy-and-hold) มากกว่า

ว่ากันตามจริงแล้ว ไม่ว่านักลงทุนจะเก่งแค่ไหนก็ไม่สามารถคาดการณ์มูลค่าที่แท้จริงของหุ้นได้อย่างถูกต้อง นักลงทุนทำได้แค่ประเมินมูลค่าของหุ้นภายใต้สภานการณ์การเติบโตของกำไรในอนาคต กล่าวง่ายๆคือ โอกาสที่นักลงทุนจะประเมินมูลค่าหุ้นให้ถูกต้องนั้นเป็นไปได้ยาก ดังนั้นการที่นักลงทุนจะขายหุ้นตัวหนึ่งเพื่อไปซื้ออีกตัวหนึ่งนั้นอาจจะไม่คุ้มค่าเลยเพราะนักลงทุนเองก็ไม่สามารถตอบได้ว่าตัวเองประเมินมูลค่าหุ้นตัวไหนได้ถูกต้องมากน้อยอย่างไร

ยิ่งพอรวมต้นทุนในการซื้อขายแต่ละครั้ง ซึ่งรวมถึง ภาษี  ส่วนต่างระหว่างราคาเสนอซื้อและเสนอขาย (bid–ask spreads) และค่านายหน้าเข้าไป โอกาสที่จะได้รับผลตอบแทนที่เพิ่มขึ้นจากการซื้อขายบ่อยๆ ก็ยิ่งน้อยกว่าการซื้อหุ้นในบริษัทที่มีลักษณะ Wide moat แล้วก็ถือหุ้นแบบนี้ในระยะยาวเสียอีก

ที่มา: Morningstar Thailand Analysts

ลงทุนก่อนเถอะ แล้วค่อยใช้เงินทีหลัง

ผมได้อ่านหนังสือเรื่อง “พ่อรวยและพ่อจนสอนลูก” ผมชอบอยู่บทเรียนหนึ่งที่กล่าวว่า “คนส่วนใหญ่ตั้งใจทำงานหาเงินเพื่อตอบสนองความต้องการส่วนตัว แต่มีคนส่วนน้อยที่ตั้งใจที่จะเก็บเงินเพื่อให้เงินทำงานแทนเรา” ผมยอมรับว่าการตัดกิเลส ความอยากได้ไม่สิ้นสุด เป็นเรื่องยาก อาจต้องศึกษาทฤษฎีเรื่องเศรษฐกิจพอเพียง หรืออาจถึงกับต้องศึกษาพุทธศาสานา ในเรื่องการเดินสายกลาง เพื่อที่จะตัดกิเลสความอยากได้ให้ได้ เพราะเมื่อใดก็ตามที่เราใช้เงิน ไปตอบสนองความต้องการส่วนตัว ในเรื่องที่ไม่จำเป็น เราจะสูญเงินที่สามารถทำงานแทนเราได้ตลอดชีวิต เสียดายแทนครับ

ทำไมต้องให้เงินทำงานแทนเรา คำตอบชัดเจนในตัวเอง คือเราต้องการอิสรภาพทางการเงิน และเมื่อใดก็ตามที่เราให้เงินทำงานหาเงิน จนพอค่าใช้จ่ายของเรา เราจะไม่ต้องกังวลเรื่องการหาเงินด้วยตนเองอีกต่อไป ถึงเวลานั้นลาออกจากงานประจำ เลิกทำธุรกิจส่วนต้ว แล้วมาหาความสุขกับชีวิตดีกันดีกว่า

วิธีที่จะให้เงินทำงาน (หาเงิน) แทนเราก็คือการนำเงินที่หามาได้ไปลงทุนซื้อทรัพย์สินเพื่อให้ทรัพย์สินนั้นสร้างผลตอบแทนให้เรา

คนส่วนใหญ่นำเงินไปตอบสนองความต้องการตัวเองก่อน ด้วยการซื้อสิ่งของที่อาจไม่จำเป็นในชีวิต ซึ่งบางครั้งเป็นการสร้างภาระ เช่นนำไปซื้อรถแพงๆ เปลี่ยนมือถือเป็นว่าเล่น หรือตามเทคโนโลยีจนเหนื่อย ลองคิดดูว่าที่ผ่านมา เราสูญเงินไปกับเรื่องไม่จำเป็นมากน้อยแค่ไหน และหากเปลี่ยนสิ่งของเหล่านั้นมาเป็นเงิน เราจะได้เท่าไร ไม่ต้องนึกถึงว่าเงินเหล่านั้น จะมาสร้างผลตอบแทนได้เท่าไรในอนาคต เราจะเปลี่ยนแนวทางการใช้เงินวันนี้ หรือจะรอจนเราต้องถูกบังคับให้เปลี่ยน และมันมักจะสายเกินไป

แล้วจะลงทุนอะไรละ หลายคนอาจเข้าใจผิดว่าการนำเงินไปฝากธนาคารและได้ดอกเบี้ย 2% - 3% เป็นการลงทุน ซึ่งไม่ใช่ นั้นเรียกว่าการออม การลงทุนคือการนำเงินไปลงทุนในสินทรัพย์ที่ความเสี่ยงเพิ่มขึ้น และได้

ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น เช่นการซื้อตราสารหนี้ หรือซื้อหุ้น อย่างไรก็ตามท่านอาจเป็นคนหนึ่งที่บอกว่า ฉันพอใจกับผลตอบแทน 2% - 3% ไม่อยากจะเสี่ยงอะไร แต่อย่าลืมนะครับว่าเราจะต้องเสียภาษีดอกเบี้ย 15% ซึ่งนั้นหมายถึงเราจะได้ผลตอบแทนสุทธิเพียง 1.7% - 2.55% เท่านั้น แต่พิจาณาเงินเฟ้อในประเทศระยะยาวที่ประมาณ 3% การฝากเงินไว้กับธนาคารจะทำให้เราขาดทุนตลอดเวลา เนื่องจากผลตอบแทนไม่คุ้มค่าเงินเฟ้อ แล้วหากยังคงเป็นเช่นนี้ จะเกิดอะไรขึ้น เราก็จะต้องทำงานหาเงินมาเพิ่มตลอดเวลา เกษียณเมื่อไรก็ไม่รู้ ดังนั้นสิ่งที่ท่านต้องให้ความใส่ใจคือการลงทุนในสินทรัพย์เพื่อให้เงินทำงานแทนเราบ้าง และให้ทำงานตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีวันหยุด ใช้เงินเยี่ยงทาสก็ว่าได้ครับ รับรองเงินไม่บ่นให้คุณได้ยินสักคำ

หุ้นเป็นทางเลือกหนึ่งที่ดีที่สุดในการให้เงินทำงาน หลายคนบอกว่ามีความเสี่ยง แต่หากเราลงทุนระยะยาวและต่อเนื่อง ความเสี่ยงดังกล่าวจะลดลงอย่างมหาศาล นอกจากนั้นความเสี่ยงยังอยู่ที่เราไม่มีความรู้เรื่องหุ้นด้วย และหากเรามีความรู้มากขึ้น ความเสี่ยงจะลดลงได้เช่นกัน ลองย้อนกลับไป 30 ปีที่แล้ว (ผ่านทั้งวิกฤติต้มยำกุ้ง วิกฤติ subprime ในสหรัฐฯ) ไม่ว่าคุณจะลงทุนอะไรก็ตาม หุ้นเป็นทรัพย์สินที่ให้ผลตอบแทนมากที่สุดเฉลี่ยปีละ 14% (รวมเงินปันผล) ขณะที่ลงทุนในตราสารหนี้เอกชนได้ 8% ต่อปี และฝากเงินในธนาคารได้ 5% ต่อปี คิดต่อไปหากย้อนเวลากลับไปได้ 30 ปี คุณกับเพื่อนคุณตอนนั้นมีอายุ 30 ปี มีเงินเดือน 1 หมื่นบาทเท่ากัน ให้เงินเดือนเพิ่มขึ้นปีละ 5% แต่คุณแบ่งเงิน 20% ของเงินเดือนมาลงทุนหุ้น แต่เพื่อนคุณแบ่งเงิน 20% มาออมเงินโดยฝากธนาคาร คุณทราบไหมครับว่าจะเกิดอะไรขึ้น คุณจะมีเงินทั้งสิ้น 14.18 ล้านบาทตอนคุณอายุ 60 ปี แต่เพื่อนคุณจะมีเงินแค่ 3.12 ล้านบาท (ไม่รวมภาษีดอกเบี้ยที่เพื่อนคุณต้องเสียอีก) เห็นความแตกต่างไหมครับ แล้วคุณจะไม่เริ่มศึกษาการลงทุนในหุ้นเชียวหรือครับ รับรองการลงทุนหุ้น มีทั้งวิธีแบบง่ายที่สุด แบบที่เรายอมรับว่าเราไม่มีความรู้ จนถึงแบบยากที่สุด ที่ทำให้นักลงทุนหุ้นหลายคน กลายเป็นคนที่รวยอันดับต้นๆ ของโลกหรือของประเทศเลยทีเดียว

ที่มา: คุณกวี ชุกิจเกษม ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บมจ หลักทรัพย์ กสิกรไทย

Thursday, September 12, 2013

Parent's Opinions : ชีวิต “โสด” ดีจริงหรือ?

ไม่รู้ว่าเป็นข้ออ้างสำหรับคนไร้คู่หรือไม่ กับประโยคที่ว่า “อยู่เป็นโสด สนุก และมีความสุขกว่าตั้งเยอะ” เห็นได้จากเพื่อนของทีมงานบางคนที่ตั้งใจจะใช้ชีวิตโสด เพราะไม่อยากถูกมัด และมีบ่วงคอยรัดตัว ถึงแม้จะต้องทนกับคำว่าขึ้นคานก็ตาม แต่ถ้าให้เลือกระหว่าง “อิสระ” กับ “ภาระ” เปอร์เซ็นต์ของการครองชีวิตโสดนับวันยิ่งเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ

ไม่ต่างกับคนรู้จักของทีมงานจำนวนหนึ่งที่แต่งงานมีลูกกันแล้ว แต่ถวิลหาอยากกลับไปใช้ชีวิตโสดอีกครั้ง เพราะได้ใช้ชีวิตส่วนตัวอย่างเต็มที่ และไม่ต้องแบกรับภาระอันหนักอึ้ง ทั้งเรื่องการศึกษาของลูก ค่าใช้จ่ายภายในบ้าน และอื่นๆ อีกมากมาย

ในขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่ง กลับมองว่า อยู่เป็นโสดทั้งเหงา และโดดเดี่ยว มิหนำซ้ำยังไม่มีคนดูแลในยามแก่เฒ่า หรือไม่มีใครที่สามารถฝากผีฝากไข้ได้เลย
    
และนี่จึงเป็นที่มาของหัวข้อคำถามใน Parent's Opinions สัปดาห์นี้ที่เราขอเปิดพื้นที่ให้ท่านผู้อ่านได้เข้ามาวิเคราะห์กันอย่างตรงไปตรงมาว่า ระหว่างชีวิตโสด VS ชีวิตคู่ แบบไหนที่คุณคิดว่าดีกว่ากัน เข้ามาบอกเล่า และแลกเปลี่ยนกันได้ทางกล่องแสดงความคิดเห็นด้านล่างนี้ หรือถ้าใครพอจะมีแง่มุม หรือประสบการณ์ดีๆ ที่เห็นสมควรแก่การแบ่งปัน ทีมงานยินดีน้อมรับด้วยความขอบคุณครับ
    
ทีมงาน Life & Family
*****************
ความคิดเห็นที่ 17
  
ผมมีความเห็นว่า ท่านที่บอกว่าได้อย่างเสียอย่าง เป็นความคิดเห็นที่เป็นกำปั้นทุบดินเกินไปครับ และประเด็นของเรื่องนี้ผู้เขียนก็ตั้งโจทย์ไว้แล้วว่าอยากได้ความคิดเห็นว่า การมีคู่ครองหรือเป็นโสดอะไรดีกว่ากัน เพราะฉะนั้นการแสดงความคิดเห็นควรเน้นด้านใดด้านหนึ่งและบอกเหตุผลของตนเองออกมาให้ชัด มันจะได้เป็นข้อมูลสำหรับคนอื่น ๆ จะได้นำไปคิดพิจารณาต่อไป และเป็นข้อมูลที่จะนำมาใช้ได้ในอนาคตด้วย

ตัวผมเองผ่านการมีครอบครัวและเลิกลากันไปเรียบร้อยแล้วโดยไม่มีบุตรมาเป็นปัญหาในการตัดสินใจ ส่วนสาเหตุก็เป็นเรื่องแนวคิดของแต่ละฝ่ายโดยไม่มีปัญหาด้านชู้สาวมือที่สามใด ๆ ทั้งสิ้น

จากประสบการณ์ของผมเองเมื่อเวลาผ่านไปก็ได้ข้อสรุปของตนเองว่า การมีชีวิตคู่นั้นสิ่งสำคัญคือทั้งสองคนหวังจะมีบุตรเพื่อสืบทอดวงศ์ตระกูลต่อไปหรือไม่ หากต้องการมีบุตรการมีชีวิตคู่จึงจะมีได้และเป็นเลือดเนื้อเชื้อไขที่แท้จริง ในกรณีที่ไม่ได้คิดหวังจะมีบุตรไว้สืบทอดวงศ์ตระกูลการมีชีวิตคู่แค่มีเพื่อนใกล้ชิดที่รู้ใจ และเป็นคู่ครองกันไปตลอดชีวิตนั้นจะมีได้ก็เมื่อคนทั้งสองเข้าใจแต่ละฝ่ายอย่างดีและยอมรับกันได้ดีด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่ยากมากในความรู้สึกของผม เพราะคนเรานั้นอาจมีช่วงชีวิตที่เปลี่ยนแปลงกันได้และแนวคิดก็อาจเปลี่ยนไปได้เช่นกัน นอกจากนั้นรสนิยมส่วนตัวก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญเช่นกัน หากไม่สอดคล้องกันจริง ๆ แล้วปัญหาจะเกิดได้ทันที

การใช้ชีวิตอยู่กินร่วมกันก่อนการสมรสนั้น ก็เป็นอีกแนวความคิดหนึ่งที่เคยมีการนำเสนอต่อสังคม เรื่องนี้ในต่างประเทศเขานิยมทำกันเพราะเขาไม่ได้คิดในด้านเพศสัมพันธ์ว่าสำคัญ เพราะเขาถือว่าเป็นประสบการณ์เท่านั้น แต่การจะถือแบบนี้ได้ เราต้องยอมรับกันอย่างแท้จริงว่า ผู้ที่เราเลือกมาเป็นคู่ครองอาจผ่านการมีเพศสัมพันธ์มามากมายแล้วก็ได้โดยไม่คิดมาก (อย่างแท้จริง) ปัญหาการเป็นคนโสดหรือมีคู่ครองจึงไม่ใช่สาระสำคัญเท่าใดนักหากคิดแบบนี้

คนไทยเรายังไม่ค่อยยอมรับเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ของฝ่ายหญิงก่อนการสมรส ทั้ง ๆ ที่ฝ่ายชายเองผ่านการมีเพศสัมพันธ์มากมายแล้วก็ได้ เพราะสภาพสังคมเอื้อให้เป็นเช่นนั้น แต่สังคมทุกวันนี้สิ่งเหล่านี้กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว จึงเป็นประอีกประเด็นหนึ่งที่เราต้องพิจารณาว่าเราจะยอมรับได้ในระดับไหน ถูกผิดเป็นเรื่องที่สรุปได้ยาก มันอยู่ที่ใจเราเองเท่านั้น

การมีคู่ครองนั้นฐานะไม่ใช่ประเด็นสำคัญ เพราะเราจะเห็นได้ว่ามีคู่ครองมากมายที่ฐานะยากจนและมีความสุขอยู่ร่วมกันได้ ช่วยกันทำมาหากินและบุตรสืบทอดได้อย่างอดทนและไม่มีปัญหา ทั้งนี้ทั้งนั้นคู่ครองคู่นั้นต้องมีทัศนคติที่ดีและรู้จักการเลี้ยงดูบุตรเป็น นั่นหมายถึงว่าทั้งคู่มีพื้่นฐานด้านความรู้พอสมควรที่จะมีครอบครัวได้

การอยู่เป็นโสดตัวคนเดียวที่หลายท่านกล่าวว่าเป็นชีวิตที่เงียบเหงา มันอาจจริงแต่จะเป็นแค่ช่วงเวลาระยะสั้น ๆ เท่านั้นเอง และหากคุณหาข้อสรุปในการใช้ชีวิตส่วนตัวได้แล้วผมว่าปัญหานี้ไม่มีแน่นอน เพราะเรามีเพื่อนได้ การมีเพื่อนที่ดีและสนิทเราหาได้หลายคน แต่การมีคู่ครองที่ดีนั้นเราหาได้คนเดียว ทั้งนี้ทั้งนั้นพื้นฐานอยู่ที่ตัวเราเองเป็นหลัก ถ้าเราทำตัวไม่ดีชีวิตก็ไม่ดี หากเราทำตัวได้ดีชีวิตจะได้ดีเช่นกันและไม่เงียบเหงาเลย แต่สิ่งสำคัญสำหรับคนโสดอีกเรื่องหนึ่งก็คือ เราต้องสร้างฐานะเราให้มั่นคงและคิดให้รอบคอบในการใช้สอยต่าง ๆ โปรดอย่าลืมว่าชีวิตคนโสดค่าใช้จ่ายจะสูงกว่าคนมีครอบครัว (หมายถึงค่าเฉลี่ยต่อหัวนะครับ) ดังนั้นการใช้ชีวิตโสดนั้นต้องวางแผนการเงินของตัวเองให้รอบคอบด้วย เพราะในอนาคตเมื่ออายุมากแล้วเราต้องใช้จ่ายในการดูแลสุขภาพและความเป็นอยู่ส่วนตัว เพราะไม่มีครอบครัวช่วยดูแล ซึ่งต้องใช้เงินทั้งสิ้น

ครับผมก็บอกเล่าประสบการณ์จริงของตัวเองให้ท่านทั้งหลายได้พิจารณากัน รักชอบวิธีใดก็เลือกใช้กันด้วยสติปัญญาและสภาพแวดล้อมของท่านก็แล้วกัน

ที่มา: หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ