Tuesday, May 15, 2012

สร้างสุขให้จิตใจ

มนุษย์เราทุกคนที่เกิดมามีชีวิตอยู่ในโลกนี้ ทุกชีวิตย่อมประสบกับปัญหาด้วยกันทั้งนั้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาส่วนตัวและปัญหาสังคม ปัญหาที่ประสบนั้น ต่างกันบ้าง เหมือนกันบ้าง จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ทุกคนจะต้องต่อสู้ด้วยความพยายามอดทน เพื่อที่จะหาวิธีแก้ไขปัญหาชีวิตที่เกิดขึ้นแก่ตนอยู่ตลอดเวลา เพราะชีวิตที่ดีมีความสุขคือชีวิตที่สามารถแก้ปัญหาได้

สิ่งที่จำเป็นสำหรับชีวิตมนุษย์ ที่ต่างดิ้นรนแสวงหา คือ ปัจจัย 4 ได้แก่ เครื่องนุ่งห่ม อาหาร ที่อยู่อาศัย ยารักษาโรค และสิ่งอำนวยความสุขอื่นๆ ในการแสวงหานั้น ไม่ควรแสวงหาจนเกินขอบเขตเกินความพอดี เกินความจำเป็น ควรรู้จักพอ เพราะใจของคนเราเมื่อตกไปสู่อำนาจของความอยาก ความรู้จักพอก็ไม่มี เหมือนไฟไม่มีวันอิ่มด้วยเชื้อ เมื่อไม่สามารถควบคุมความปรารถนาของใจไว้ได้ ยิ่งได้มาเท่าไรก็อยากได้เพิ่มเป็นทวีคูณ

การแสวงหาปัจจัยเพื่อสนองความอยากของตนเองเช่นนี้ นอกจากจะทำตัวให้เดือดร้อนแล้ว ยังก่อทุกข์ให้เกิดขึ้น ถ้าไม่สามารถจะควบคุมใจของตนเองไว้ได้ อาจแสวงหาในทางทุจริตได้ เท่ากับทำตนให้ตกเป็นทาสของความอยาก ในสภาวะสังคมปัจจุบัน ควรดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่าย เพราะการดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายจะทำตนให้พ้นจากสภาพความวุ่นวายสับสนนั้นได้

คุณธรรมที่สำคัญสำหรับปลูกฝังให้เกิดความรู้จักพอหรือความพอดีในใจนั้น คือ ความสันโดษ คำว่า สันโดษ แปลว่า ความยินดีด้วยของที่ตนมีอยู่ ท่านแบ่งไว้ 3 ลักษณะด้วยกันคือ

1. ยินดีพอใจในสิ่งที่ตนได้ในสิ่งที่ตนมี ได้เท่าไหร่ มีเท่าไหร่ ก็ยินดีเท่านั้น ในสภาวะในฐานะที่ตนกำลังมีกำลังเป็นหรือได้รับอยู่ เพื่อป้องกันความทุกข์ที่จะเกิดจากความผิดหวัง เพราะถ้าบุคคลไม่สามารถจะหยุดความพอใจของตนไว้ได้ เมื่อได้รับหรือมีอะไรไม่พอใจในสิ่งที่ได้หรือสิ่งที่มี เมื่อความผิดหวังเกิดขึ้นแล้ว ความไม่ชอบใจก็เกิดตามมา ดังนั้นควรฝึกใจให้มีความพอดียินดีตามมีตามได้ ความทุกข์ใจก็ไม่เกิด

2. ยินดีพอใจตามกำลังของตนที่มีอยู่ หมายความว่า ให้รู้จักประมาณในความรู้ความสามารถของตน กระตุ้นเตือนตนให้รู้จักใช้ความสามารถของตนให้เต็มที่ ไม่ให้เป็นคนเกียจคร้าน คุณธรรมข้อนี้สอนให้บุคคลมิให้เอารัดเอาเปรียบผู้อื่น ฝึกให้เกิดความขยันหมั่นเพียรในการใช้กำลังในทางที่ถูกให้พอดี

3. ยินดีพอใจในสิ่งที่สมควรและยินดีพอใจพอสมควร หมายถึง การใช้กำลังให้ได้มาซึ่งปัจจัย และปัจจัยนั้นต้องเป็นปัจจัยที่เหมาะสม คุณธรรมข้อนี้ สอนให้บุคคลรู้จักคำว่า อิ่มคือพอ เพราะมากไปกว่านี้ก็เกินความจำเป็นไร้ประโยชน์ เหมือนน้ำที่เต็มแก้ว เอาน้ำไปเติมใหม่ก็มีแต่จะล้นออกมาใช้ประโยชน์ไม่ได้

ฉะนั้น ควรที่เราทุกคนจะมีความพอใจ พอดี พอเพียง ถ้าบุคคลมีคุณธรรมทั้ง 3 ประการนี้ประจำใจแล้ว จะอยู่ในสังคมใด ประเทศใด ก็ทำให้สังคมนั้น ประเทศนั้นมีความเจริญรุ่งเรือง มีความสงบสุขอย่างแท้จริง

ที่มา : หนังสือพิมพ์ข่าวสด

Sunday, March 25, 2012

Net Security

ความปลอดภัยบนโลกอินเทอร์เน็ต
วิธีการเจาะข้อมูลหรือรบกวนระบบคอมพิวเตอร์อาจทำได้ง่าย ๆ เหมือนการลงชื่อเข้าใช้อีเมล ซึ่งตามรายงานแล้วนั่นเป็นวิธีที่แฮกเกอร์ชาวจีนใช้กับเป้าหมายที่เป็นบุคลากรทางการทหารของสหรัฐอเมริกา โดยกระทำการ “ฟิชชิ่ง” หรือเจาะระบบเพื่อขโมยข้อมูลโดยอาศัยคำที่ใช้กันทั่วไปในการลงท้ายอีเมล เช่น “ด้วยความเคารพอย่างสูง” หรือ “ขอแสดงความนับถือ” หรือแม้กระทั่งการลงท้ายจดหมายด้วยตัวย่ออย่าง “วี/อาร์” ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์ เมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2554

กลยุทธ์และการโจมตีดังกล่าวทำให้รัฐบาลต้องทำงานอย่างหนักเพื่อพยายามรักษาระบบเครือข่ายให้มีความปลอดภัยและนำหน้าคนร้ายไปหนึ่งก้าว

กระทรวงกลาโหมสหรัฐฯ ได้ประกาศยุทธศาสตร์การดำเนินงานในโลกไซเบอร์เมื่อเดือนกรฎาคม พ.ศ. 2554 โดยกำหนดแผนการดูแลโลกเสมือนจริงให้เหมือนกับเป็นพื้นที่ปฏิบัติการหนึ่ง ทางกระทรวงเปิดเผยว่ามีแผนที่จะทำงานร่วมกับหน่วยงานต่าง ๆ รวมทั้งพันธมิตรนานาชาติเพื่อ “ลดความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นกับขีดความสามารถในโลกไซเบอร์ของสหรัฐฯ และพันธมิตร ในขณะเดียวกันก็ปกป้องและเคารพหลักความเป็นส่วนตัวและเสรีภาพของพลเมือง สิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างอิสระ และการสร้างนวัตกรรมที่ทำให้โลกไซเบอร์เป็นส่วนหนึ่งของความเจริญรุ่งเรืองและความมั่นคงของประเทศสหรัฐอเมริกา”

เมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประเทศอินเดียได้จัดตั้งหน่วยเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบมาตรการความมั่นคงแห่งชาติ โดยเน้นการพิจารณาถึงสิ่งที่ประเทศอาจประสบในแง่ของความมั่นคงทางไซเบอร์

“ปัญหาความมั่นคงเปลี่ยนแปลงไป ประเทศอินเดียมีความเจริญก้าวหน้า ขณะเดียวกันปัญหาด้านความมั่นคงก็พัฒนาไปด้วย” หนังสือพิมพ์ เดอะไทม์ส ออฟ อินเดีย อ้างถึงคำกล่าวของเจ้าหน้าที่คนหนึ่งเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2554 “ถึงเวลาที่จะพิจารณาสถานการณ์ด้านความมั่นคงแห่งชาติในแง่ของปัญหาด้านความมั่นคงทางไซเบอร์ตลอดจนความมั่นคงทางด้านพลังงาน”

สมาชิกของหน่วยเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบความมั่นคงประกอบด้วยอดีตผู้นำหน่วยของกองทัพเรือและกองทัพอากาศของอินเดีย พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านข่าวกรองและนิวเคลียร์ ซึ่งหน่วยเฉพาะกิจดังกล่าวมีเวลาหกเดือนในการจัดทำรายงาน

ในขณะเดียวกัน อินเดียและสหรัฐอเมริกาได้ลงนามในข้อตกลงเมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2554 เพื่อความร่วมมือในการรักษาความมั่นคงในโลกไซเบอร์ ข้อตกลงดังกล่าวได้กำหนดแนวทางปฏิบัติที่ดีที่สุดในการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่สำคัญเกี่ยวกับความมั่นคงทางไซเบอร์ และแลกเปลี่ยนความเชี่ยวชาญพิเศษระหว่างรัฐบาลของทั้งสองประเทศ โดยจัดตั้งชุดตอบรับสถานการณ์ฉุกเฉินแห่งชาติทางคอมพิวเตอร์และแผนกเทคโนโลยีสารสนเทศ รัฐบาลหรือกองทัพใดที่ไม่มีระบบเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตที่ปลอดภัยเพื่อใช้ในการรับส่งข้อมูลสำคัญ ควรหาวิธีที่จะปรับปรุงระบบเครือข่ายของตน

อ่านเพิ่มเติม

ที่มา: _____,"ความปลอดภัยบนโลกอินเทอร์เน็ต, Net Security", Asia Pacific Defense Forum, 2012-01-01.