Sunday, August 25, 2013

Global Fire Power (GFP)

Global Fire Power (GFP) จะจัดอันดับความแข็งแกร่งของพลังอำนาจทางทหารของประเทศทั่วโลก โดยใช้ดัชนีชี้วัดพลังอำนาจทางทหารของประเทศ คือ Power Index (PwrIndx)  คิดคำนวณจาก 40 ปัจจัยที่เกี่ยวข้องใน 7 หมวดคือ Man Power, Land System, Air Power, Naval Power, Resources, Logistical, Financial, และ Geography ประเทศที่มีค่า PwrIndx ใกล้ค่า 0.0000 มากที่สุด คือ ประเทศที่ความแข็งแกร่งของพลังอำนาจทางทหารของประเทศสูงสุด หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า ถ้าประเทศใดมีค่า PwrIndx เป็น 0.0000 หมายความว่าประเทศนั้นมีพลังอำนาจทางทหารของประเทศสมบูรณ์แบบที่สุด ตามฐานข้อมูล GFP Database ล่าสุดเมื่อวันที่ 1 สิงหาคม 2556 (8/1/2013) มีทั้งหมด 68 ประเทศที่ได้รับการจัดอันดับ GPF Ranking และประเทศที่มีความแข็งแกร่งทางทหารสูงสุด 10 อันดับแรกในระดับ Global (ภูมิภาครวมทั่วโลก) หรือ Top 10 GPF Ranking in Global คือ
  1. USA        PwrIndx: 0.2475
  2. Russia        PwrIndx: 0.2618
  3. China        PwrIndx: 0.3351
  4. India        PwrIndx: 0.4346
  5. United Kingdom    PwrIndx: 0.5185
  6. France        PwrIndx: 0.6163
  7. Germany        PwrIndx: 0.6491
  8. South Korea    PwrIndx: 0.6547
  9. Italy        PwrIndx: 0.6838
  10. Brazil        PwrIndx: 0.6912
สำหรับประเทศไทย (Thailand) อยู่ในอันดับที่ 20 ในระดับภูมิภาครวมทั่วโลก (Global) มีค่า PwrIndx: 0.8979  ส่วน GPF Ranking ระดับเอเซียแปกซิฟิก (Asia-Pacific) 10 อันดับแรก หรือ Top 10 GPF Ranking in Asia-Pacific Region คือ
  1. Russia        PwrIndx: 0.2618
  2. China        PwrIndx: 0.3351
  3. India        PwrIndx: 0.4346
  4. South Korea    PwrIndx: 0.6547
  5. Turkey      PwrIndx: 0.7059
  6. Pakistan   PwrIndx: 0.7331
  7. Indonesia   PwrIndx: 0.7614
  8. Japan  PwrIndx: 0.7918
  9. Taiwan  PwrIndx: 0.8632
  10. Thailand    PwrIndx: 0.8979
ที่มา  GPF Ranking

Monday, August 12, 2013

5 สิ่งที่คนเรามักเสียดาย ในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต

หากเอ่ยถามคนหนุ่มคนสาวว่า มีอะไรในชีวิตที่รู้สึกเสียดายที่ยังไม่ได้ทำหรือไม่ เชื่อเลยว่าหนุ่มสาวส่วนใหญ่คงจะนึกไม่ออก และบอกไม่ถูกเป็นแน่ เพราะลึก ๆ แล้วเราต่างก็เผลอคิดไปว่าชีวิตนั้นยังคงอยู่อีกยาวไกล มีเวลาให้ทำในสิ่งที่อยากทำอีกตั้งเยอะ แต่หากนำคำถามเดียวกันนี้ไปถามคนชรา หรือผู้ป่วยใกล้ตายแล้วละก็ อาจจะได้คำตอบที่ยาวเหยียดกันเลยทีเดียว เพราะเวลาชีวิตที่ล่วงเลยมาจนถึงช่วงสุดท้าย มักจะทำให้คนเราเห็นคุณค่าของชีวิตและมองเห็นสิ่งที่ชีวิตขาดหายได้ชัดเจน

ด้วยเหตุนี้เอง ทำให้บรอนนี แวร์ พยาบาลชาวออสเตรเลียรายหนึ่งที่มีหน้าที่ดูแลผู้ป่วยใกล้ตาย ตัดสินใจรวบรวมคำตอบของคนที่มีเวลาชีวิตเหลือน้อยมาเขียนเป็นหนังสือชื่อ The Top Five Regrets of the Dying เพื่อเป็นกระจกสะท้อนกลับมาถึงคนที่กำลังมีชีวิตอยู่ ให้ได้ถามตัวเองดูว่า สิ่งที่เราทำอยู่ทุกวันนี้ มันเป็นสิ่งที่เติมเต็มให้ชีวิตมีความสุขหรือมีคุณค่าอย่างที่เราอยากให้เป็นแล้วหรือไม่ หรือเรากำลังดำเนินชีวิตไปตามเส้นทางที่เราอาจรู้สึกเสียดายภายหลัง โดยจากหนังสือของบรอนนี แวร์ เธอระบุไว้ว่าสิ่งที่คนใกล้ตายส่วนใหญ่รู้สึกเสียดายกันมากที่สุด ได้แก่ 5 สิ่งต่อไปนี้

1. เสียดายที่ไม่ได้ทำตามสิ่งที่ใจต้องการ นี่เป็นสิ่งที่คนใกล้ตายรู้สึกเสียดายกันมากที่สุด เมื่อพวกเขารู้ตัวว่าเวลาชีวิตเหลือน้อย และลองมองกลับไปในอดีต พวกเขามักจะเห็นว่ามีความฝันอีกมากมายที่ยังไม่ถูกเติมเต็ม บางคนก็ดำเนินชีวิตไปตามความคาดหวังของคนอื่นจนไม่เป็นตัวของตัวเอง ทั้งที่จริง ๆ แล้ว ทุกคนล้วนมีอิสระ มีเวลาที่จะเติมเต็มความฝันและทำอย่างที่ใจต้องการได้ทั้งชีวิต น่าเสียดายที่กว่าจะรู้ตัว พวกเขาก็ไม่มีเวลาชีวิตเหลืออยู่อีกต่อไปแล้ว

2. เสียดายที่ทำงานอย่างหนัก ไม่ใช่แค่ผู้ป่วยชายใกล้ตายเท่านั้นที่รู้สึกเสียดายชีวิตที่ทุ่มเทไปกับการทำงานมากเกินไป แต่ผู้หญิงก็เช่นกัน พวกเขามักเสียดายที่เวลาชีวิตไม่น้อยถูกใช้ให้หมดไปกับการทำงาน จนทำให้เวลาที่อยู่กับคนรัก ลูก ๆ และครอบครัวมีน้อยมากในความรู้สึก

3. เสียดายที่ไม่ยอมเปิดเผยความรู้สึกของตัวเองให้คนอื่นรู้ ผู้ป่วยใกล้ตายหลายคนกดเก็บความรู้สึกของตัวเองที่มีต่อใครหลายคนไว้ เพื่อรักษาความสัมพันธ์กับคนเหล่านั้น ผลสุดท้ายก็ต้องมานอนเสียดายหรือเจ็บใจที่ความไม่กล้าเปิดเผยความรู้สึกในอดีต ทำให้เขาไม่ได้เป็นในสิ่งที่เขาสามารถเป็นได้ นอกจากนี้ ยังมีการพบว่าผู้ป่วยหลายรายมีสุขภาพจิตย่ำแย่จากการเก็บกดความรู้สึกเช่นนี้ในช่วงสุดท้ายก่อนตายอีกด้วย

4. เสียดายที่ปล่อยให้เพื่อนฝูงห่างหาย ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อว่า แม้ว่าบางช่วงชีวิต "เพื่อน" อาจดูไม่ได้สำคัญกับชีวิตเท่าไร แต่เมื่อถึงตอนใกล้ตาย คนแทบทุกคนมักจะคิดถึงและเรียกร้องหาเพื่อนเก่าทั้งนั้น เพราะพวกเขามักจะมานั่งนึกถึงอดีตและมองเห็นความดีของเพื่อนที่เข้าใจเมื่อสาย กว่าจะรู้ตัวก็ปล่อยให้เพื่อนเก่าห่างหาย ไม่รู้จะตามหาได้ที่ไหนเสียแล้ว

5. เสียดายที่ไม่ทำให้ตัวเองมีความสุขมากกว่านี้ ชีวิตคนเรามีเวลามากมายในการทำให้ชีวิตและจิตใจตัวเองมีความสุขในทุก ๆ วัน แต่บางครั้งคนเรากลับเคยชินที่จะอยู่กับชีวิตแบบเดิม ๆ พฤติกรรมแบบเดิม ๆ และความไม่กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง ทำให้หลายคนต้องแสร้งทำเหมือนตัวเองมีความสุขให้คนอื่นเห็น บางครั้งก็หลอกตัวเองว่ามีความสุขด้วย ทั้ง ๆ ที่ลึก ๆ แล้ว รอยยิ้มและเสียงหัวเราะเกิดขึ้นได้ยากมาก สุดท้ายก็มานั่งเสียดายที่ปล่อยให้ตัวเองจมอยู่กับสิ่งเดิม ๆ และเพิ่งจะมาตระหนักรู้เอาตอนช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิตว่าความสุขนั้นเป็นสิ่งที่เราเลือกที่จะเป็นได้

และนี่ก็คือ 5 สิ่งที่คนใกล้ตายมักจะรู้สึกเสียดายกันมากที่สุด อ่านมาถึงตรงนี้แล้ว คราวนี้ก็ถึงเวลาที่คุณ ๆ จะต้องย้อนถามตัวเองกันบ้างแล้วค่ะว่า ณ วันนี้ที่ชีวิตยังดำเนินต่อไปโดยไม่มีโรคภัยหรือความชรามาเป็นอุปสรรคแล้ว คุณได้ทำชีวิตให้มีความสุขมีคุณค่ามากแค่ไหน และอยากทำสิ่งดี ๆ ใดให้เกิดขึ้นในชีวิตบ้าง แล้วเริ่มลงมือทำสิ่งเหล่านั้นเสียเลย อย่างน้อยในช่วงเวลาสุดท้ายของชีวิต จะได้ไม่มาบ่นเสียดายหรือเสียใจในสิ่งที่ครั้งหนึ่งเคยมีโอกาสทำแต่ก็ไม่ได้ทำ

ทำไมเวลาที่ฝนตก เรามักจะคิดถึงคนที่เรารัก เราผูกพัน

ทำไมเวลาที่ฝนตก เรามักจะคิดถึงคนที่เรารัก เราผูกพันและบางครั้งก็รู้สึกเหงาด้วย 
 
เมื่อก่อนนี้ ท้องฟ้า แผ่นดิน และผืนน้ำ เป็นเพื่อนรักกัน
ทั้งสามอยู่ใกล้ชิดติดกัน จนกระทั่งโลกได้กำเนิดพืชและสัตว์ขึ้น
แผ่นดินและผืนน้ำก็มัวแต่ดูแลเอาใจใส่พืชและสัตว์ จนละเลยและไม่สนใจท้องฟ้า ท้องฟ้าก็เริ่มรู้สึกน้อยใจ และถอยตัวห่างออกไป ห่างออกไปทุกที ทุกที

จนถึงวันที่มีนกตัวแรกออกโบยบิน แผ่นดินและผืนน้ำจึงได้รู้ว่าท้องฟ้าได้จากไปไกลแสนไกล แผ่นดินและผืนน้ำพยายามส่งเสียงเรียกท้องฟ้า แต่ท้องฟ้าอยู่ไกลมาก เลยไม่ได้ยิน

นกตัวนั้นจึงอาสาที่จะไปบอกกับท้องฟ้า นกก็บินขึ้นสูง สูงขึ้น สูงขึ้น และส่งเสียงเรียก แต่เสียงนกนั้นเบาเกินไป ไปไม่ถึงท้องฟ้า แต่นกก็สัญญาว่า ต่อไปนี้นกทุกตัวจะบินขึ้นสู่ท้องฟ้า เพื่อนำข่าวจากแผ่นดินและผืนน้ำไปบอก

ผืนน้ำและแผ่นดินรู้สึกเศร้าใจที่เพื่อนได้ห่างออกไปไกล และคิดถึงเพื่อนเหลือเกิน ผืนน้ำพยายามที่จะม้วนตัวเป็นเกลียวคลื่นครั้งแล้วครั้งเล่า
แผ่นดินพยายามยกตัวสูงจนตั้งตระหง่าน แต่นั่นก็ยังสูงไม่พอ ยังไม่ใกล้ท้องฟ้า

พระอาทิตย์ซึ่งเฝ้ามองดูเหตุการณ์มาโดยตลอด ก็บอกกับทั้งสองว่า "เราอาจจะช่วยพวกเจ้าได้" พระอาทิตย์จึงอาสาช่วย โดยการส่องแสงลงมายังผืนน้ำและแผ่นดิน ทำให้ระเหยกลายเป็นไอ ลอยไปรวมตัวกันเป็นก้อนเมฆ ลอยขึ้นไปบอกข่าวแก่ท้องฟ้า เล่าเรื่องราวต่างๆเป็นรูปตามที่ แผ่นดินและผืนน้ำได้พบเจอมา และบอกว่าแผ่นดินและผืนน้ำคิดถึงมาก อยากให้ท้องฟ้าลงมาสนิทแนบชิดเหมือนเมื่อก่อน "

ท้องฟ้าได้รับรู้เรื่องราว ก็รู้สึกเสียใจ แต่ก็กลับลงไปไม่ได้
"ฉัน กลับลงไปไม่ได้หรอก เพราะฉันเติบโตขึ้น และอยู่สูงเกินไป ลงไปไม่ได้แล้ว ฉันได้แผ่ขยายตัวเองจนกว้างขวาง ที่ฉันทำได้ก็เพียงแต่เฝ้ามองดูอยู่ไกลๆ และโอบกอดแผ่นดินและผืนน้ำไว้อย่างอ่อนโยนเท่านั้น
และถึงแม้จะมีนกบินมาส่งข่าว แต่ฉันก็ยังคิดถึงแผ่นดินและผืนน้ำ
และอยากจะบอกกับทั้งสองว่า ฉันเองคิดถึงเพื่อนมากมายเพียงใด"

ก้อนเมฆก็ตอบว่า "อยู่บนนี้นานๆก็เหงาเหมือนกัน บางทีก็อยากกลับลงไปข้างล่างบ้าง"

ท้องฟ้าเลยบอกว่า "ฉันก็เหงาเหมือนกัน แต่ว่าฉันกลับลงไปไม่ได้ แต่เจ้าลงไปได้นี่ ถ้าอย่างนั้นฉันจะส่งเจ้ากลับลงไป และความคิดถึงของฉันก็หนักมากพอที่จะส่งพวกเจ้าลงไปหมดทั้งท้องฟ้า"

จากนั้นก้อนเมฆทั้งหมดก็รวมตัวกัน และรวมเข้ากับความคิดถึงอันมากมายของท้องฟ้า แล้วตกลงมาเป็นหยาดฝน ส่งผ่านความรัก ความคิดถึงมายังแผ่นดินและผืนน้ำ

จึงไม่แปลก ถ้าเมื่อใดที่ฝนตก แล้วเราจะรู้สึกคิดถึงคนที่เรารัก
คนที่เราผูกพัน และบางครั้ง ท้องฟ้าก็ส่งความเหงาลงมาด้วย

Sunday, August 11, 2013

Stuxnet (สตักซ์เน็ต)

Stuxnet (สตักซ์เน็ต) เป็นโปรแกรมหนอนคอมพิวเตอร์ถูกตรวจพบครั้งแรกเดือนมิถุนายน 2010 โดยมีความเชื่อว่า Stuxnet นี้ถูกสร้างโดยกลุ่มคนหรือองค์กรจากประเทศมหาอำนาจ โดย Stuxnet ถูกตรวจพบและรายงานครั้งแรกว่าได้เข้าโจมตีโรงงานนิวเคลียร์ของประเทศอิหร่าน

Stuxnet จะคัดลอกตัวเองและแพร่กระจายผ่าน Microsoft Windows และมีเป้าหมายไปที่ระบบควบคุมโรงงานอุตสาหกรรม (Siements Industrial control system) และระบบพีแอลซี (Programmable Logic Controllers)

บริษัท ไมโครซอฟท์ เปิดเผยว่า มีคอมพิวเตอร์ทั่วโลกติดไวรัสสตักซ์เน็ตแล้วถึงกว่า 4.5 หมื่นเครื่อง และในเวลาต่อมาบรรดาผู้เชี่ยวชาญต่างระบุว่า ไวรัสดังกล่าวมีเป้าหมายมุ่งเจาะระบบควบคุมคอมพิวเตอร์ของบริษัท ซีเมนส์ จากเยอรมนี ที่นิยมใช้กันในระบบอุตสาหกรรมเพื่อควบคุมระบบท่อส่งน้ำมัน สายส่งไฟฟ้า และโรงงานนิวเคลียร์ทั่วโลก และบริษัท ไซแมนเทค ในสหรัฐได้รายงานว่าประมาณ 60% ของระบบคอมพิวเตอร์ที่ตกเป็นเป้าหมาย ล้วนเป็นคอมพิวเตอร์ในประเทศอิหร่าน

ประเทศที่ตรวจพบการแพร่ระบาดสตักซ์เน็ต: รายงานจากบริษัท ไซแทนเทค (สหรัฐอเมริกา)
  1. อิหร่าน 58.85%
  2. อินโดนีเซีย 18.22%
  3. อินเดีย 8.31%
  4. อาเซอร์ไบจาน 2.57%
  5. สหรัฐ 1.56%
  6. ปากีสถาน 1.28%
  7. ประเทศอื่นๆ 9.2%
จุดประสงค์ของสตักซ์เน็ต (Stuxnet)

สตักซ์เน็ตแตกต่างจากหนอนคอมพิวเตอร์ทั่วไปคือ มันมีจุดประสงค์ที่จะโจมตี สร้างความเสียหายต่อระบบคอมพิวเตอร์ที่มีซอฟต์แวร์ของ Siemens ทำงานอยู่ กล่าวคือ ถ้าคอมพิวเตอร์และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ติดหนอนคอมพิวเตอร์นี้ (สตักซ์เน็ต) มีซอฟต์แวร์ของ Siemens ติดตั้งและทำงานอยู่ มันจะสร้างความเสียหายอย่างหนักให้ระบบคอมพิวเตอร์เหล่านั้น เช่น เปลี่ยนแปลงการตั้งค่าในระบบซอฟต์แวร์ควบคุมโรงงาน หรือ ถ้าเป็นโรงงานนิวเคลียร์ก็จะเปลี่ยนแปลงการตั้งค่าที่เกี่ยวกับส่วนควบคุมการทำงานกับแร่ยูเรเนียมหรือเแร่ธาตุอื่นๆ เป็นต้น ในขณะที่ถ้าคอมพิวเตอร์และเครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ติดหนอนคอมพิวเตอร์นี้ (สตักซ์เน็ต) ไม่มีซอฟต์แวร์ของ Siemens ติดตั้งและทำงานอยู่ มันจะสร้างความเสียหายเล็กน้อยให้แทน  โดยหนอนคอมพิวเตอร์ (สตักซ์เน็ต) จะมีการแบ่งชั้นการโจมตีไว้ 3 ระบบ คือ
  1. ระบบปฏิบัติการคอมพิวเตอร์ Windows
  2. ระบบซอฟต์แวร์ Siemens PCS 7, WinCC และ STEP7 ซึ่งเป็นซอฟต์แวร์ในโรงงานอุตสาหรกรรม (โรงงานนิวเคลียร์)
  3. ระบบพีแอลซี Siemens S7 PLC

More information:
Stuxnet, http://en.wikipedia.org/wiki/Stuxnet
Nicolas Falliere, Liam O Murchu, and Eric Chien, W32.stuxnet.dossier , Symantec Security Response, February 2011.
David Kushner, The Real Story of Stuxnet and How it worked, Spectrum IEEE Telecom and Security, 26 Feb 2013.