รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยระบุว่ารัฐบาลต้องสนับสนุนระบบเศรษฐกิจเสรี ซึ่งแปลว่าต้องปล่อยให้กลไกราคาทำงานโดยรัฐบาลไม่ควรเข้าไปแทรกแซงหรือยุ่งเกี่ยวกับการทำงานของตลาด แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง เราจะเห็นว่ามีตลาดสินค้าบางชนิดที่รัฐบาลจะเข้าไปควบคุมดูแลระดับราคาของมัน เพราะรัฐบาลคิดว่าถ้าปล่อยให้กลไกราคาทำงานอย่างเสรีแล้ว ผลที่เกิดขึ้นจะทำให้คนส่วนใหญ่ได้รับความเดือดร้อน
ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดก็คือการเข้าไปแทรกแซงระดับราคาสินค้าเกษตร ซึ่งหมายถึงการไม่ปล่อยให้ “ราคา” สินค้าเกษตรซื้อขายกันตามราคาตลาด และเมื่อไหร่ที่รัฐบาลมีนโยบายแทรกแซงการทำงานของตลาด คำถามที่ตามมาเสมอก็คือควรใช้วิธีอะไรในการแทรกแซงเพื่อให้เกิดประโยชน์กับเกษตรกรมากที่สุด หรือเกิดผลกระทบทางลบน้อยที่สุด ดังเช่นกรณีล่าสุด เรื่องของข้าว ที่เถียงกันว่าควรใช้วิธีใดระหว่างการรับจำนำกับการประกันราคา
อย่างไรก็ตาม หากจะกล่าวอย่างถึงที่สุดแล้ว การแทรกแซงราคาสินค้าของรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นวิธีรับจำนำหรือประกันราคา ล้วนเป็นวิธีที่ทำโดยมีข้อจำกัดด้านงบประมาณ จึงแทบไม่ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรยกตัวสูงขึ้น เนื่องจากรัฐบาลรับซื้อสินค้าเกษตรเป็นจำนวนน้อยมากเมื่อเทียบกับปริมาณผลผลิตทั้งหมด เช่น การเปิดรับจำนำข้าวทั้งหมดเพียง 6 ล้านตันจากผลผลิตข้าวนาปีทั้งหมดยี่สิบกว่าล้านตัน เป็นต้น จึงทำให้ผลประโยชน์จากการแทรกแซงตกอยู่กับคนกลุ่มเล็กๆ เพียงหยิบมือเดียว
คำถามคือ ถ้าเช่นนั้น รัฐบาลควรเลิกการแทรกแซงตลาดสินค้าเกษตรไปเลย จะดีหรือไม่?
คำตอบคือ ในระยะสั้น รัฐบาลคงยังต้องแทรกแซงหรือช่วยเหลือเกษตรกรต่อไป เพราะถ้าปล่อยให้ตลาดทำงานเอง มันจะมีปัญหาอย่างที่กล่าวมาแล้ว (อ่านเพิ่มเติม) แต่สิ่งที่รัฐบาลควรพิจารณาอย่างจริงจังคือคิดหาวิธีที่ได้ผลจริงๆ วิธีที่ทำให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับคนส่วนใหญ่ วิธีที่ไม่สร้างภาระด้านงบประมาณให้กับรัฐบาลมากจนเกินไป วิธีที่ไม่เปิดช่องให้เกิดการทุจริตได้อย่างง่ายๆ วิธีที่สามารถสร้างพฤติกรรมของเกษตรกรให้เน้นการพึ่งตัวเองมากกว่าการหวังพึ่งความช่วยเหลือจากรัฐบาลอยู่ตลอดเวลา ไม่ใช่ใช้วิธีการที่มีเป้าหมายหลักอยู่เพียงแค่การเพิ่มฐานเสียงและความนิยมเท่านั้น
ส่วนในระยะยาว ทางออกที่ควรจะเป็นคือการส่งเสริมการแปรรูปสินค้าเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่าของสินค้า ตลอดจนช่วยพัฒนาการผลิตของเกษตรกรเพื่อให้ได้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น หรือไม่ก็ต้องหาวิธีลดต้นทุนการผลิตลงให้ได้
นอกจากนั้น การช่วยเหลือเกษตรกรยังต้องทำไปพร้อมๆ กับการพัฒนาด้านอื่นๆ เช่น การพัฒนาด้านการศึกษา การบริหารจัดการ แม้กระทั่งการพัฒนาทางด้านการเมือง เพื่อให้เกษตรกรรู้ว่าเงินที่นำมาใช้ในโครงการแทรกแซงตลาดนั้นล้วนเป็นเงินงบประมาณที่มาจากภาษีอากรทั้งสิ้น ไม่ใช่เงินจากกระเป๋าของนักการเมืองคนใดคนหนึ่ง
รายละเอียด อ่านเพิ่มเติม
ที่มา สุภาภรณ์ อัศวไชยชาญ, "รับจำนำกับการประกันราคา: ความเหมือนบนความแตกต่าง," Wednesday, 01 July 2009
Subscribe to:
Post Comments (Atom)
No comments:
Post a Comment