J-20 นี้แต่เดิมอยู่ในชื่อของโครงการว่า J-XX ซึ่งริเริ่มขึ้นตั้งแต่ทศวรรษที่ 1990 โดยเริ่มสร้างเครื่องต้นแบบจำนวน 2 เครื่องในช่วงปี 2001 และ 2002 จนมาแล้วเสร็จในช่วงปลายปี 2010ที่ผ่านมา และเริ่มการทดสอบการบิน ทดสอบอุปกรณ์การบินต่างๆเมื่อปลายปี 2010 ทั้งนี้มีการคาดการณ์กันว่าจะถูกเข้าประจำการในปี 2017-2019 โดยคาดว่าจะเข้ามามีบทบาทเพื่อเป็นเครื่องบินแบบเอนกประสงค์หลายภารกิจ เช่นเดียวกับ F-35 ของกองทัพอากาศสหรัฐ โดย J-20 จะเป็นเครื่องบินเชิงรุกเช่นเดียวกับ F-22 Rapter,F-35 และ Su T-50 ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นเครื่องบินรบที่มีเทคโนโลยีล่องหน (Stealth)
เครื่องบินรบรุ่น J-20 นี้จะสามารถบรรทุกอาวุธและเชื้อเพลิงมากกว่า F-22 นั่นจะทำให้พิสัยทำการและจำนวนอาวุธจะมีมากกว่าเครื่อง F-22 ทำให้ภารกิจของเครื่องบิน J-20 มีความหลากหลายตามไปกับความสามารถในการบรรทุกที่มากกว่าและพิสัยการบินที่ไกลกว่า ซึ่งจากรูปภาพที่ถูกเผยแพร่ผ่านอินเตอร์เน็ตทีผ่านมาพบว่าโครงสร้างอากาศยานมีความคล้ายคลึงกับ F-35 ค่อนข้างมากขณะที่มีขนาดลำตัวเครื่องบินมีขนาดใหญ่กว่า F-22 ไม่มากนักซึ่งเครื่องที่ทำการทดสอบคาดว่าใช้เครื่องยนต์แบบ Saturn117s ที่ผลิตในรัสเซียจำนวน 2 เครื่องยนต์ ระบบเรดาห์เป็นแบบ Active Electronically Scanned Array (AESA)
โดยเครื่องบินรบ J-20 นี้ถูกพัฒนาและสร้างโดยบริษัท Chengdu Aircraft Industry Group (CAC) ซึ่งเป็นบริษัทผลิตอากาศยานชั้นนำของรัฐบาลจีนที่ผลิตเครื่องบินรบออกมาหลายแบบทั้ง JF-17 , J-7 (ทั้งสองรุ่นเป็นเครื่องบินรบส่งออกของจีน)
การที่จีนสามารถผลิตเครื่องบินรบประสิทธิภาพสูงและล่องหนได้จะทำให้จีนมีความมั่นใจในกำลังทางอากาศของตนเพิ่มมากขึ้น ซึ่ง J-20 ที่ผลิตออกมาเป็นเครื่องบินรบที่มีเป้าประสงค์จะเข้ามาต่อกรกับเครื่องบินรบของสหรัฐเช่น F-22 ,F-35 ที่ล้วนเป็นเครื่องบินยุคที่ 5 ทั้งหมด ซึ่งแน่นอนว่าประเทศที่เป็นคู่ขัดแย้งอย่างไต้หวันย่อมมองด้วยความพรั่นพรึงอย่างแน่นอนต่อการครองน่านฟ้าเหนือช่องแคบไต้หวัน โดยการประจำการเครื่องบินรบรุ่นนี้ในอนาคตของจีนส่วนหนึ่งจะต้องอยู่ใกล้กับช่องแคบไต้หวันเพราะเป็นพื้นที่ที่จีนจะต้องครองอากาศเอาไว้ให้ได้เร็วที่สุดถ้าเกิดสงคราม ซึ่งเป็นไปได้ว่าถ้าเกิดการปะทะขึ้นเครื่องบินที่มาปะทะจะเป็นเครื่องบินในยุคเดียวกันอย่าง F-35 หรือ F-22 ขณะที่ไต้หวันเองย่อมจะต้องตอบโต้กลับด้วยการสั่งซื้อเครื่องบินรบประเภทเดียวกันจากสหรัฐเพิ่มมากขึ้น ซึ่งคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะเป็น F-35 ที่กำลังพัฒนาอยู่ในเวลานี้
การพัฒนาเครื่องบินรบแบบล่องหนนี้นอกจากสถาปนาขีดความสามารถทางการรบที่มากขึ้นของกองทัพอากาศจีนแล้วยังทำให้ยุทธศาสตร์ของจีนเป็นในเชิงรุกมากขึ้นเพราะเครื่องบินชนิดนี้เป็นเครื่องบินเชิงรุกทางยุทธศาสตร์ การสร้างอำนาจต่อรองทางยุทธศาสตร์ในเอเชียตะวันออกไกลของจีนจะมีน้ำหนักเพิ่มมากขึ้น นั่นย่อมทำให้ประเทศในเอเชียต้องมองจีนในมุมอีกด้านถึงความแข็งกร้าวทางทหารที่จีนเริ่มสะสมกำลังทางเทคโนโลยีที่ก้าวหน้ามากขึ้นเรื่อยๆ และจะเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือการดำเนินนโยบายการต่างประเทศนอกเหนือจาก Soft Power ที่จีนทำมาตลอด